การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ไอวีเอฟ / อิ๊กซี่)

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการทำคืออะไรบ้าง (สำหรับชาวไทยเเละต่างชาติ)

• บัตรประชาชน/พาสปอร์ต

• ทะเบียนสมรส (กรณีชาวต่างชาติต้องไปขอใบรับรองทะเบียนสมรสที่สถานทูต)

• ประวัติการรักษาเดิมหรือผลเลือดเดิม ในกรณีเคยรักษามีบุตรยากหรือตรวจร่างกายมาจากที่อื่น

การเตรียมตัวก่อนการทำ ไอวีเอฟ / อิ๊กซี่ / กระตุ้นไข่
(อาหารที่ทาน / วิตามิน / การดูแลตัวเอง )

ฝ่ายหญิง

• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง

• รับประทานโปรตีนอย่างน้อยวันละประมาณ 60 มิลลิกรัม เพื่อให้ไข่มีคุณภาพดีและสมบูรณ์

• ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 1.5 - 2 ลิตร

• ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายเบา ๆ อาทิ การเดิน และการทำโยคะ ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่าการออกกำลังกายหนัก

• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งการได้รับควันบุหรี่

• พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และไม่ควรเครียดจนเกินไป

• รับประทานโฟลิก (Folic) อย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายชาย

• หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อาทิ การเป็นไข้ เพราะส่งผลต่อจำนวนและคุณภาพของเชื้ออสุจิอาจลดลงได้

• หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่นหรือการทำซาวน่า เพราะอุณหภูมิ มีผลต่อคุณภาพอสุจิ

• ไม่สวมใส่ กางเกงชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้อากาศถ่ายเทเเละระบบโลหิตไหลเวียนดี

• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เเละแอลกอฮอล์

• งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการเริ่มการรักษา และระหว่างการรักษา

• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป

ระยะเวลาเข้ากระบวนการ

สำหรับฝ่ายหญิง ควรเข้ามาพบแพทย์ในช่วง 1-3 วันแรกของการมีประจำเดือน เพื่อที่จะสามารถตรวจร่างกายและเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนเพศหญิงได้ค่าที่แม่นยำ ในกรณีของฝ่ายชายหากต้องการตรวจคุณภาพอสุจิ ควรงดหลั่งสเปิร์มล่วงหน้าก่อนเข้ามาตรวจ 3-7 วัน

ลำดับขั้นตอนของการทำ ไอวีเอฟ / อิ๊กซี่

1. การกระตุ้นรังไข่ โดยหลักการแล้ว คือ การกระตุ้นให้ไข่ที่ร่างกายคัดเลือกมาจำนวนหนึ่งในรอบนั้นไม่ฝ่อ มีการเจริญเติบโต และพร้อมตกไข่ครั้งละหลายใบ

ในช่วงการกระตุ้นไข่นี้จะมีการใช้ยาอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ยากระตุ้นรังไข่ และยาป้องกันไข่ตกก่อนวันเก็บไข่ โดยปกติการกระตุ้นไข่ ทำโดยการฉีดยาทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ระหว่างการกระตุ้นไข่ จะมีการตรวจติดตามการเจริญของไข่โดยตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด และตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนเพื่อประเมินการตอบสนองของยาและปรับขนาดยา เมื่อไข่โตจนมีขนาดประมาณ 18-20 มิลลิเมตร แพทย์จะนัดเก็บไข่ โดยให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก และนัดเก็บไข่หลังจากฉีดยาให้ตกไข่แล้ว 34-36 ชั่วโมง

2. การเก็บไข่ จะทำในห้องผ่าตัด โดยจะมีการให้ยาสลบอ่อน ๆ แพทย์จะเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยใช้เข็มเก็บไข่แทงผ่านผนังช่องคลอดพร้อมกับการดูภาพอัลตร้าซาวด์ เพื่อเป็นตัวบอกแนวของเข็มที่จะเจาะดูดไข่ออกมา หลังจากเก็บไข่ ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าสังเกตอาการต่อที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง โดยหลังเก็บไข่อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองประมาณ 1-2 วัน ทั้งนี้ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อน ในวันเก็บไข่ และสามีต้องมาเก็บน้ำอสุจิโดยวิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง จากนั้น นำน้ำอสุจิที่เก็บได้ ส่งห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจินี้ไปผ่านกระบวนการเตรียมน้ำอสุจิเพื่อเตรียมผสมกับไข่ในห้องปฏิบัติการ

3. การทำให้เกิดการปฏิสนธิ เเบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

3.1 - In Vitro Fertilization (ไอวีเอฟ) คือ การผสมไข่กับอสุจิที่ผ่านขั้นตอนการเตรียมน้ำอสุจิแล้ว

3.2 - Intra Cytoplasmic Sperm Injection (อิ๊กซี่) คือ การเลือกตัวอสุจิที่มีลักษณะปกติมาเพียง 1 ตัวฉีดเข้าเซลล์ไข่ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาน้ำเชื้ออสุจิอ่อน โดยในปัจจุบันนิยมทำอิ๊กซี่กันมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้ออสุจิผ่านเข้าไปในเซล์ไข่อย่างแน่นอนและหากต้องการตรวจวินิจฉัยหรือคัดกรองพันธุกรรมก่อนการฝังตัว (PGD, PGS) จำเป็นต้องทำอิ๊กซี่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของอสุจิตัวอื่น ซึ่งจะมีผลต่อการแปลผลการตรวจ PGD หรือ PGS ได้ โดยที่หลังการปฏิสนธิ จะเลี้ยงตัวอ่อนไปจนถึงระยะที่เหมาะสมต่อการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก คือ ประมาณ 2-5 วันหลังเก็บไข่

4. การย้ายตัวอ่อน การย้ายตัวอ่อนโดยผ่านทางปากมดลูก เเบ่งเป็น 2 ไ้ด้แก่

4.1 - การย้ายตัวอ่อนรอบสด คือ ย้ายตัวอ่อนประมาณ 2-5 วัน หลังเก็บไข่ วิธีนั้นมักใช้กรณีที่มีตัวอ่อนจำนวนน้อย

4.2 - การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง คือ ตัวอ่อนที่ได้จะทำการแช่แข็งไว้ก่อน วิธีการนี้ใช้กรณีได้ตัวอ่อนหลายตัว เป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ เเละหลีกเลี่ยงภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป เพื่อให้ตัวอ่อนได้รับการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน ก่อนการย้ายตัวอ่อน (Pre-Implantation Genetic Diagnosis ; PGD)

หรือได้รับการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการย้ายตัวอ่อน (Pre-implantation genetic screening ; PGS)

สำหรับการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะให้ยาเตรียมโพรงมดลูกและนัดวันย้ายตัวอ่อน (ในกรณีตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ ก็จะเตรียมโพรงมดลูกให้ผู้ป่วยในรอบเดือนถัดไป) ขณะย้ายตัวอ่อน ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวคล้ายกับการตรวจภายในตามปกติ ซึ่งตัวอ่อนที่เหลือจากการปฏิสนธินอกร่างกายจะแช่แข็งไว้ เพื่อใช้ในโอกาสต่อไป

5. การดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน ผู้ป่วยต้องพักผ่อน และใช้ยาฮอร์โมนเพื่อช่วยการฝังตัวของตัวอ่อน โดยจะนัดมาตรวจวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือดประมาณ 12-14 วันหลังจากการใส่ตัวอ่อน ทั้งนี้หากตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยาเพื่อผยุงการตั้งครรภ์ต่อ และให้ดำเนินการฝากครรภ์ เเต่ในกรณีที่ไม่เกิดการตั้งครรภ์แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและปรึกษาการรักษาร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในรอบถัดไป


ระยะเวลาการดำเนินการ เเละความถี่ของการเข้าพบเเพทย์

สามารถปรึกษาได้ในทุกช่วงของประจำเดือน

ใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที


การกระตุ้นไข่ : วันที่ 2 หรือวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน

ใช้เวลาประมาณ : 10 – 12 วัน


การเก็บไข่และการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ : 36 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

ใช้เวลาประมาณ : 1-2 ชั่วโมง


การเลี้ยงตัวอ่อน : หลังจากปฏิสนธิด้วยวิธีไอวีเอฟ หรือ อิ๊กซี่

ใช้เวลาประมาณ : 5-6 วัน


การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน : หลังจากมีการเลี้ยงตัวอ่อน ถึงระยะ Blastocyst

ใช้เวลาประมาณ : 7-10 วันในการออกผล

การย้ายตัวอ่อน : หลังกระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

ใช้เวลาประมาณ : 2 ชั่วโมง

**กระตุ้นไข่ + ย้ายตัวอ่อนรอบสด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

***กระตุ้นไข่ + ย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

มาพบแพทย์ติดตามผลหลังฉีดยากระตุ้น 2-3 ครั้ง วันที่เก็บไข่ 1 ครั้ง วันที่เตรียมโพรงมดลูกก่อนย้ายตัวอ่อน 1-2 ครั้ง วันที่ย้ายตัวอ่อน 1 ครั้ง